Skip-To-Main

Menu

ที่เที่ยวแลนด์มาร์ค

กั้นลังกำแพงหินหัวใจคู่
กั้นลังกำแพงหินหัวใจคู่

กั้นลังกำแพงหินแสดงให้เห็นถึงปัญญาของผู้คนในสมัยก่อน ซึ่งเป็นกับดักจับปลาที่สร้างขึ้นมาด้วยหินบะซอลต์และปะการัง ส่วนกั้นลังกำแพงหินหัวใจคู่ที่ชีเหม่ยนั้น เนื่องจากมีรูปทรงที่แสนโรแมนติก จึงได้ดึงดูดคู่รักเข้าชมกันอย่างมากมาย จนได้กลายเป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวของเผิงหู โดยกั้นลังกำแพงหินหัวใจคู่ยังเป็นกำแพงหินที่ถูกรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดในท่ามกลางกำแพงหินมากมายของพื้นที่เผิงหู หากสนใจเข้าชมกั้นลังกำแพงหินหัวใจคู่ จะต้องตรวจสอบเวลาน้ำลงในแต่ละวันล่วงหน้า เพื่อได้เห็นรูปทรงหัวใจคู่ของกำแพงหินอย่างครบถ้วนโดยไม่ผิดหวัง

  • กั้นลังกำแพงหินหัวใจคู่ อำเภอชีเหม่ย เทศมณฑลเผิงหู
กลุ่มเสาหินบะซอลต์ต้ากั่วเยี่ย
กลุ่มเสาหินบะซอลต์ต้ากั่วเยี่ย

ในสมัยที่อยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น เพื่อเชื่อมต่อการจราจรทางทะเลระหว่างหม่ากงและซีหยู่ จึงได้สร้างท่าเรือขึ้นมาที่ชายทะเลของต้ากั่วเยี่ย ในขณะที่ขุดก้อนหินและดินอยู่ บังเอิญได้ค้นพบกลุ่มเสาหินบะซอลต์อันยิ่งใหญ่งดงามแห่งนี้ที่นอนนิ่งอยู่ใต้พื้นดินมาเป็นเวลาพันปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มเสาหินบะซอลต์ที่เข้าถึงได้ง่ายบนเกาะเผิงหู

  • No. 10, Chidong Vil., Xiyu Township, Penghu County (10 หมู่บ้านฉือตง อำเภอซีหยู่ เทศมณฑลเผิงหู)
ถ้ำเฟิงกุ้ย
ถ้ำเฟิงกุ้ย

“เสียงคลื่นเฟิงกุ้ย” เป็นจุดท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของเผิงหู หมู่บ้านเฟิงกุ้ยตั้งอยู่ช่วงปลายของคาบสมุทรเฟิงกุ้ย ซึ่งชาวพื้นเมืองเผิงหูมักเรียกกันว่า “หางเฟิงกุ้ย” ชายหาดฝั่งใต้ของชุมชนมีกลุ่มเสาหินบะซอลต์ที่เห็นรอยแตกตกผลึกได้ชัดเจนมาก และเนื่องจากถูกกัดเซาะโดยคลื่น จึงได้เกิดร่องที่แคบและยาวขึ้นมา จากนั้น ส่วนปลายด้านในของร่อง ก็ถูกกัดเซาะจนกลายเป็นถ้ำ และจากที่ถ้ำค่อย ๆ เกิดเป็นรูเล็ก ๆ ทะลุผ่านซอกรอยแตกของหินไปถึงพื้นดิน ทุกครั้งที่น้ำขึ้นและเจอกับลมพัดมาจากทางใต้ จะมีคลื่นยาวซัดเข้าฝั่งตามร่อง ผลักดันอากาศในถ้ำ ทำให้น้ำทะเลพุ่งออกมาจากซอก จนเกิดเสียงดังขึ้นที่คล้ายกับเตาลมพ่น

  • ถ้ำเฟิงกุ้ย หมู่บ้านเฟิงกุ้ย เมืองหม่ากง เทศมณฑลเผิงหู
เขตนันทนาการเป่ยเหลียว
เขตนันทนาการเป่ยเหลียว

ระหว่างชายฝั่งตะวันออกใต้เขาขุยปี้และ “เกาะชื่อหยู่” ที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ จะมีทางเดินหินกรวดรูปทรง S ที่จะปรากฏในเวลาน้ำลง หลายปีที่ผ่านมาได้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเล่นน้ำหรือ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยว แต่เนื่องจากพบว่าหลังน้ำขึ้นจนท่วมเท้าแล้ว น้ำทะเลจะขึ้นอย่างรวดเร็วมาก จึงแนะนำต้องคำนวณเวลาน้ำขึ้นน้ำลงให้ดี และไม่ตะลุยจนนานเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอันตราย ส่วนที่มาของชื่อเขาขุยปี้: หากมองหาดขุยปี้จากที่ไกลบนทะเล จะเห็นว่าแนวหน้าผามีความคล้ายกับเต่าทะเลที่กำลังลอยพักบนทะเล จึงได้ชื่อว่า “เขากุยเปีย” ซึ่งมีความหมายว่าภูเขาเต่าและตะพาบ จากนั้น ช่ายถิงหลัน ขุนนางระดับจิ้นซื่อ ผู้เป็นชาวเผิงหู ได้ใช้คำว่า “ขุยปี้” ที่มีเสียงคล้ายกันมาแต่งเป็นกลอนว่า “ขุยปี้เจิดจ้า สะท้อนวับวาว” และระบุไว้ในทิวทัศน์แปดแห่งของเผิงหู ความหมายของขุยปี้ก็คือชื่อของดาวสองดวงที่เรียงอยู่บนท้องฟ้าร่วมกับดวงดาวมากมาย สะท้อนกันและกันกับไฟเรือประมงกระพริบบนทะเล ประกอบเป็นภาพสวยงามแห่งธรรมชาติ

  • หมู่บ้านเป่ยเหลียว อำเภอหูซี เทศมณฑลเผิงหู
เกาะจี๋เป้ย
เกาะจี๋เป้ย

ทั่วทั้งเกาะจี๋เป้ยมีพื้นที่ประมาณ 3.1 ตร.กม. เส้นชายฝั่งยาวประมาณ 13 กม. เป็นเกาะใหญ่ที่สุดบนทะเลแห่งเหนือ และเป็นจุดท่องเที่ยวที่นิยมมากในประเทศไต้หวัน โดยมีภูมิลักษณ์ที่พิเศษที่สุดคือ ชายหาดและจะงอยทรายแสนสวยงามที่เกิดจากตะกอนทับถมในทะเล บริเวณทะเลรอบเกาะจี๋เป้ยเพียบพร้อมไปด้วยกั้นลังกำแพงหินอย่างหนาแน่น โดย 88 แห่งที่ยังคงเหลือไว้ในตอนนี้ ก็ได้ครองสัดส่วน 1 ใน 7 จากทั้งหมด 580 กว่าแห่งในเทศมณฑลแล้ว เวลาน้ำลง สามารถเดินลุยน้ำจากที่คนพื้นเมืองเรียกว่าฮงวันจ่ายไปถึงเกาะกั้วหยู่ที่อยู่ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งริมฝั่งสองด้านของฮงวันจ่าย ทั้งตะวันออกและตก จะมีกั้นลังกำแพงหินอยู่อย่างหนาแน่นมาก โดยมีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมดในเกาะจี๋เป้ย (ประมาณ 40 แห่ง) ซึ่งการที่ชาวพื้นเมืองใช้พื้นที่เขตน้ำขึ้นน้ำลงในการสร้างกับดักจับปลาที่ก่อด้วยหินบะซอลต์เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นพิเศษที่สุดในการชมวัฒนธรรมแห่งเกาะจี๋เป้ย

  • เกาะจี๋เป้ย อำเภอไป๋ซา เทศมณฑลเผิงหู
ประภาคารเกาะหยูวง
ประภาคารเกาะหยูวง

ประภาคารแห่งนี้เริ่มต้นก่อสร้างในปี 1778 โดยเดิมเป็นหอคอยหิน 7 ชั้น และมีชื่อว่า “ประภาคารซีหยู่” จนถึงปี 1875 ได้ทำการปรับปรุงให้เป็นโครงสร้างรูปแบบตะวันตกเหมือนที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้ และตั้งชื่อว่า “ประภาคารเกาะหยูวง” ต่อมาในขณะที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ได้ตอบสนองคำแนะนำจากประชาชน ให้แก้ไขเป็นชื่อทางการว่า “ประภาคารซีหยู่” ประภาคารตั้งอยู่บนฐานหินแกรนิต โดยขนาดช่วงฐานอยู่ที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เมตร และตัวประภาคารด้านบนจะมีขนาดเล็กลงเล็กน้อย เมื่อเทียบความสูงชั้นบนกับตัวประภาคารแล้วจะเป็นอัตราส่วนประมาณ 1:2 โดยอาคารประภาคารสูงทั้งหมด 11 เมตร ความสูงไฟ 60.7 เมตรจากพื้นผิวทะเลเวลาน้ำขึ้นสูงสุด

  • No. 195, Wai'an, Xiyu Township, Penghu County (195 กลุ่ม 35 หมู่บ้านวั่ยอัน อำเภอซีหยู่ เทศมณฑลเผิงหู)
เขตอนุรักษ์ชุมชนดั้งเดิมเอ้อร์ขั่น
เขตอนุรักษ์ชุมชนดั้งเดิมเอ้อร์ขั่น

หมู่บ้านเอ้อร์ขั่นได้รับการแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทยไต้หวันให้เป็นเขตอนุรักษ์ชุมชนดั้งเดิมแห่งแรกของประเทศในปี 2001 หลายปีที่ผ่านมานี้ บ้านเรือนเก่าแก่ที่ผ่านการบำรุงซ่อมแล้ว จะมอบหมายให้ “สมาคมร่วมพัฒนาชุมชนหมู่บ้านเอ้อร์ขั่น” บริหารใช้สอยอย่างเต็มที่ จนได้พัฒนากลายเป็นศูนย์นิทรรศการขนาดเล็กต่าง ๆ ที่สำแดงความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมในท้องถิ่น โดยรวมถึง ศูนย์วิถีชีวิตชาวพื้นเมือง ศูนย์เขตน้ำขึ้นน้ำลง พิพิธภัณฑ์ชุมชน ศูนย์สมุนไพรชาวฮั่น ศูนย์การละเล่น ศูนย์เพลงพื้นเมือง เป็นต้น ซึ่งเมื่อมาถึงเอ้อร์ขั่น สิ่งที่ดึงดูดสายตามากที่สุดก็คือเพลงพื้นเมืองที่แต่งโดยผู้คนในท้องถิ่น โดยจะแขวนเต็มไว้บนผนังบ้านเรือนโบราณ ซึ่งเนื้อเพลงส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต หรือถ่ายทอดอารมณ์ความรักระหว่างชายหญิง

  • เขตอนุรักษ์ชุมชนดั้งเดิมเอ้อร์ขั่น อำเภอซีหยู่ เทศมณฑลเผิงหู
สวนสาธารณะหลินโถว
สวนสาธารณะหลินโถว

หมู่บ้านหลินโถวได้ชื่อมาจากต้นหลินโถว ซึ่งก็คือเตยทะเลที่จำเริญงอกงามอยู่ริมลำธารสองฝั่งที่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของชุมชนในสมัยก่อน ตามที่กล่าวกันว่า เตยทะเลเคยปกคลุมทั่วทั้งพื้นที่ของสวนสาธารณะหลินโถว รวมถึงชายหาดกว้างใหญ่ที่อยู่ฝั่งตะวันออก ซึ่งชายหาดของสวนสาธารณะหลินโถวได้ยืดเยื้อไปผ่านหมู่บ้านสามแห่ง โดยได้แก่เจียนซาน หลินโถว และอ้ายเหมิน มีระยะยาวถึง 3,000 กว่าเมตร เป็นชายหาดที่ยาวที่สุดของเผิงหู ทะเลที่ล้อมรอบเส้นชายฝั่งใต้ของอำเภอหูซี มีทิวทัศน์ที่สวยงามยิ่งใหญ่ เนื้อทรายบนหาดละเอียดอ่อนนุ่ม น้ำทะเลก็สะอาดใส ซึ่งเป็น “หาดทรายเศษปะการังสีขาว” ที่สะอาดและสวยงาม

  • หมู่บ้านหลินโถว อำเภอหูซี เทศมณฑลเผิงหู
สะพานข้ามทะเลเผิงหู
สะพานข้ามทะเลเผิงหู

สะพานข้ามทะเลเผิงหูมีระยะทางยาวถึง 2,494 เมตร ข้ามผ่านกระแสน้ำโห่เหมินที่อยู่ระหว่างเกาะไป๋ซาและเกาะซีหยู่ น้ำไหลแรงเชี่ยวกราก โดยเป็นกระแสน้ำใต้ทะเลอันตรายอันดับที่ 2 ของเผิงหู เมื่อลมฤดูหนาวพัดมาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือ ยิ่งทำให้คลื่นซัดแรงขึ้น จนยากที่จะเดินเรือได้ จึงได้เริ่มสร้างสะพานข้ามทะเลในปี 1965 และเสร็จสิ้นการก่อสร้าง เริ่มเดินรถในปี 1970 เพื่อแก้ไขปัญหาเส้นทางจราจรที่ติดต่อไปยังเกาะหยูวง จากนั้น เนื่องจากเสาสะพานถูกกัดกร่อนอย่างสาหัส และตัวสะพานมีการทรุดลง จึงได้เริ่มขยายฐานสะพานในปี 1984 และได้เสร็จสิ้นงานก่อสร้างในปี 1996 เป็นสะพานใหม่สองเลน เมื่อมองจากที่ไกลจะดูคล้ายกับสายรุ้งที่ข้ามผ่านทะเล ไม่เพียงมีคุณค่าด้านการท่องเที่ยว แต่ยังทำให้การจราจรระหว่างซีหยู่และไป๋ซาสัญจรไปมาอย่างไร้อุปสรรค

  • สะพานเชื่อมต่ออำเภอไป๋ซาและอำเภอซีหยู่ เทศมณฑลเผิงหู
หาดอ้ายเหมิน
หาดอ้ายเหมิน

หาดอ้ายเหมินประกอบด้วยเศษปะการัง เศษเปลือกหอย และฟอรามินิเฟอรา ซึ่งฟอรามินิเฟอราที่เป็นรูปดาวนั้น มักจะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ เดิมทีหาดอ้ายเหมินไม่มีชื่อเสียงสักเล็กน้อย แต่เริ่มตั้งแต่ปี 1998 หัวหน้าหมู่บ้านอ้ายเหมินได้นำลูกชายมาร่วมปฏิบัติโครงการฟื้นฟูชายหาดชุมชนด้วยตนเอง โดยได้ติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ตาข่ายกันทราย เพื่อรักษาทรายที่พัดมาโดยลมฤดูจากตะวันออกเฉียงเหนือไว้ จนค่อย ๆ ทับถมฟื้นฟูขึ้นมา สุดท้ายความทุ่มเทของพวกเขาได้ดึงดูดความสนใจของรัฐบาลเทศมณฑลและสำนักบริหารพื้นที่ชมวิวแห่งชาติเผิงหู จนได้ตั้งงบประมาณสำหรับปรับปรุงหาดอ้ายเหมิน กระทำให้กลายเป็นหาดทรายสวยงามที่นักท่องเที่ยวต่างชื่นชมกัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน หาดอ้ายเหมินก็คือที่ไปที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมทางน้ำ

  • หมู่บ้านอ้ายเหมิน อำเภอหูซี เทศมณฑลเผิงหู
Open
Top